วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คนไทยหัวใจสีขาว ร่วมกันต้านยาเสพติด 2556


           คนไทยหัวใจสีขาว ร่วมกันต้านยาเสพติด 2556

    
  ความเป็นมาวันต่อต้านยาเสพติด

      ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักรโดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่น ที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ใช้ชื่อย่อว่า ปปส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ



          ต่อมาในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519


         ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผน และเป็นระบบที่ดีขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรม กรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพ ติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ


       
   รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยมียุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด”เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนร่วมเป็นพลังแผ่นดินในการเอาชนะยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานยาเสพติด จึงกำหนดเร่งดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติ เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาล รวมถึงการกำหนดนโยบายในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมให้สอดรับกับแผนและยุทธศาสตร์การดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล

  วัตถุประสงค์กิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด

        1. เพื่อให้ประชาชน ชุมชน เยาวชน  รับรู้และเห็นถึงความสำคัญของวันต่อต้านยาเสพติด ในการที่              จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด

        2. เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของคนในชาติ ที่ร่วมเป็น “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด”

        3. เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตระหนักถึงภัยจากยาเสพติดและเข้าร่วม             ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อการเอาชนะยาเสพติดให้ได้ผลอย่าง               ยั่งยืน
        4. เพื่อให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการผนึกกำลังของคนในชาติ เพื่อร่วม             แก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไป